|
|
บริษัทคริสตอลซอฟท์ - SAP แห่งเมืองไทย
สัปดาห์ที่แล้ว เราเห็นภาพของตลาดซอฟต์แวร์องค์กรที่กำลังมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ โดยตอนนี้จะมีการรวมตัวระหว่างออราเคิล และพีเพิลซอฟต์ สองยักษ์ใหญ่ทางด้านซอฟต์แวร์ธุรกิจสำหรับองค์กรขนาดใหญ่ โดยมีบริษัท SAP ( อ่านว่า เอสเอพี) เป็นเจ้าตลาด อันดับหนึ่งในด้านนี้อยู่
แต่จะว่าไป ผมคิดว่านั่นเป็นการรวมตัวของ 3 บริษัทมากกว่า ! เพราะพีเพิลซอฟต์เพิ่งซื้อกิจการด้านซอฟต์แวร์องค์กรจาก เจ.ดี.เอ็ดเวิร์ดส ยักษ์ใหญ่อันดับ 4 มาเมื่อไม่นานมานี้
จากประเด็นนี้เอง ผมก็เลยอยากจะขยายความถึงบริษัทเอสเอพี ผู้ผลิตและจำหน่ายซอฟต์แวร์องค์กรรายใหญ่ของโลก..ที่ไม่ใช่บริษัทอเมริกัน แต่เป็นบริษัทสัญชาติเยอรมนี
การที่บริษัทยุโรปจะขายซอฟต์แวร์ได้ทั่วโลกและเป็นอันดับหนึ่ง ย่อมแสดงว่า ไม่ใช่ธรรมดา แต่เป็นเพราะบริษัทนี้มีนวัตกรรมและออกผลิตภัณฑ์ในจังหวะเวลาที่ ? เหมาะสม? ทำให้บริษัทนี้เป็นดาวรุ่งพุ่งแรง และกลายเป็นความภูมิใจของคนยุโรปที่สามารถผลิตสินค้าชนะอเมริกันได้อีกชิ้นหนึ่ง นอกเหนือจาก โนเกีย และรถยนต์ยุโรประดับพรีเมียมต่างๆ
บริษัทเอสเอพี เป็นบริษัทเยอรมนีที่ก่อตั้งมา 32 ปีแล้วครับ (ก่อตั้งในปี 1972 ที่เมืองมานน์เฮียม เยอรมนี) โดยผู้ก่อตั้งเป็นอดีตพนักงานของไอบีเอ็มจำนวน 5 คน ปัจจุบันมีพนักงานกว่า 30,000 คน มีลูกค้าระดับองค์กรทุกแขนงอุตสาหกรรมและธุรกิจกว่า 22,600 ราย และมีการติดตั้งซอฟต์แวร์ของเอสเอพีกว่า 76,100 จุด และมีรายได้กว่า 7.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 3 แสนล้านบาท
เป้าหมายแรกของบริษัทเมื่อ 30 กว่าปีก่อน ซึ่งเป็นยุคเมนเฟรม ก็คือ การผลิตซอฟต์แวร์ธุรกิจที่ทำงานในระดับเรียลไทม์ หรือทันทีตลอดเวลาได้ ( สมัยก่อนซอฟต์แวร์และคอมพิวเตอร์จะทำงานในลักษณะแบตช์ หรือรอคิวแล้วทำงานทีละชุด) และนั่นเป็นที่มาของผลิตภัณฑ์ของบริษัทนี้ ที่มักขึ้นต้นชื่อว่า R (Real Time) เช่น R/1, R/2 และที่สร้างชื่อเสียงสูงสุดก็คือ R/3
เอสเอพี ได้แบ่งยุคซอฟต์แวร์ของตนออกเป็น 4 ยุคใหญ่ๆ ได้แก่ ยุคเมนเฟรมในทศวรรษ 70, ยุคที่สอง ยุคเมนเฟรมในทศวรรษ 80, ยุคที่สาม ยุคซอฟต์แวร์ชนิดไคลเอนต์-เซิร์ฟเวอร์ ในยุคนี้เองเครื่องพีซีและเน็ตเวิร์กแลนเข้ามามีบทบาทต่อวงการธุรกิจและไอทีเป็นอย่างมาก และทำให้โมเดลการออกแบบซอฟต์แวร์ธุรกิจสำหรับองค์กรเปลี่ยนไป จากซอฟต์แวร์ชนิดเหมางานทั้งหมดในระบบเดียว กลายเป็นชนิดแบ่งงานกันทำเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ซอฟต์แวร์ฐานข้อมูล ตัวโปรแกรมแอพพลิเคชั่น และโปรแกรมอินเทอร์เฟซ ในยุคนี้เอง เอสเอพีสามารถปรับตัวได้เร็ว ปรับโมเดลซอฟต์แวร์บัญชีของตนเอง จากเมนเฟรมไปสู่โมเดลแม่ข่าย-ลูกข่ายได้สำเร็จ
ผลของการปรับตัวและจับกระแสตลาดได้ทัน ทำให้บริษัทนี้ กลายเป็นบริษัทระดับโลก (ไม่ใช่แค่ในยุโรป) และมีชื่อเสียงอย่างมาก มีลูกค้าเพิ่มจากระดับร้อย ไปสู่ระดับพัน (หลักพันเท่านั้นครับ แต่ว่าลูกค้าแต่ละรายจ่ายเงินมาก) และเมื่อปี 1998 หรือ 6 ปีที่ผ่านมา เอสเอพีได้เข้าไปจดทะเบียนหุ้นในตลาดหุ้นนิวยอร์ก ทำให้บริษัทมีชื่อเสียงและเงินทุนมากขึ้น ขณะเดียวกัน ยังทำให้ธุรกิจในอเมริกาสนใจที่จะซื้อซอฟต์แวร์จากเอสเอพีมากขึ้นตามไปด้วย
ยุคที่สี่ ยุคอินเทอร์เน็ตและอีคอมเมิร์ซ ซึ่งเอสเอพี นอกจากจะเสนอขายซอฟต์แวร์แบบดั้งเดิมแล้ว ยังขาย ? บริการเช่าซอฟต์แวร์? ในลักษณะที่หลายๆ บริษัทยุคดอทคอมทำกัน
ในขณะที่เอสเอพีบอกว่า ซอฟต์แวร์ของตนเองได้พัฒนามาถึงยุคที่สี่แล้ว แต่สื่อมวลชนอเมริกันที่อิจฉา เห็นว่า เอสเอพีบุกเข้าตลาดอเมริกันมากเกินไป เริ่มจะช่วยกันโจมตีว่า ? ยุคที่ห้า? ของเอสเอพียังไม่มีสินค้าที่โดดเด่น โดยนิยามว่ายุคที่ห้าก็คือ ยุค ? ดอทเน็ต? ของไมโครซอฟท์ (เรื่องนี้ หากค้นข่าวจากเวบไซต์อเมริกัน จะเห็นข่าวในทำนองที่ว่าเอสเอพี ล้าหลังในเรื่องเทคโนโลยี XML และดอทเน็ต และเริ่มเป็นบริษัทที่ไม่มีอนาคต ไม่มีอะไรใหม่)
ในความคิดเห็นของผม ซอฟต์แวร์ระบบบัญชีและธุรกิจต่างๆ ควรอยู่ในระบบ ? ปิด? หมายถึง คนที่เกี่ยวข้องเท่านั้นถึงควรจะเข้าถึงข้อมูลได้ รักษาความลับได้ดี และเชื่อถือได้ จริงอยู่ที่ธุรกิจปัจจุบัน เป็นโลกาภิวัตน์ที่บริษัทสาขาต่างๆ กระจายทั่วโลก จำต้องต่อเชื่อมกันด้วยระบบอินเทอร์เน็ต เพื่อให้พนักงานทุกคนใช้ซอฟต์แวร์และฐานข้อมูลร่วมกันได้ ทันเวลา และถูกต้อง แต่เนื่องจาก ? ดอทเน็ต? เป็นเทคโนโลยีที่อิงวินโดว์สมากเกินไป ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าวินโดว์สยังคงมีรูโหว่ ไวรัสและความไม่เสถียร ขณะเดียวกัน โมเดลการใช้งานแบบผ่านเวบเบราเซอร์ (Web-based Interface) ก็ทำให้ส่วนติดต่อกับผู้ใช้ หรืออินเทอร์เฟซทำงานได้ดี กล่าวอีกนัยหนึ่ง โมเดลซอฟต์แวร์ลูกข่าย-แม่ข่าย ยังทำงานได้ดีอยู่ภายใต้ระบบวินโดว์สปกติ ดังนั้น ดอทเน็ตจึงยังไม่ใช่เทคโนโลยีใหม่ที่ควรกระโดดเข้าไป สำหรับซอฟต์แวร์ธุรกิจระดับองค์กรขนาดใหญ่
ความรู้สึกส่วนตัว ผมชอบบริษัทนี้ เพราะเก่ง และพิสูจน์ให้โลกเห็นว่า ตนไม่ใช่อเมริกันก็ประสบความสำเร็จได้ และผลิตซอฟต์แวร์ที่ดีได้ นอกจากนี้ซอฟต์แวร์บัญชีและธุรกิจต่างๆ ของเขาก็มีชื่อเสียง และคุณภาพดี โดยเฉพาะซอฟต์แวร์บัญชีเพื่อการวางแผนขั้นสูง ( หลายคนเรียกว่า อีอาร์พี - ERP : Enterprise Resource Planning) รายละเอียดเรื่องนี้ คุณลองหาอ่านจากหนังสือพิมพ์คอมพิวเตอร์เวิลด์ ฉบับภาษาไทย ประจำวันที่ 16-30 มิถุนายนที่ผ่านมาได้ครับ
มาถึงบรรทัดนี้ หลายคนอาจตั้งคำถามว่า ? แล้วเกี่ยวอะไรกับบริษัทคริสตอลซอฟท์ ซึ่งเป็นบริษัทคนไทย ?? สิ่งที่ผมกำลังจะเล่าให้ฟังก็คือ บริษัทไทยแห่งนี้มีวิวัฒนาการคล้ายๆ กับบริษัทเอสเอพีครับ เริ่มจากการผลิตซอฟต์แวร์บัญชียุคดอส ไปสู่ยุคแลน ยุคโมเดลแม่ข่าย-ลูกข่าย จากนั้น พัฒนาซอฟต์แวร์บัญชีธรรมดา ให้เป็นอีอาร์พีได้รายแรกๆ ของไทย โดยมีติดตั้งในบริษัทใหญ่น้อยนับพัน
นี่คือความภูมิใจของคนไทยครับ ที่สามารถผลิตซอฟต์แวร์ที่ซับซ้อนขั้นสูงได้เหมือนกัน ที่สำคัญ เป็นซอฟต์แวร์ที่เข้ากันได้กับ ? มาตรฐานบัญชีสไตล์ไทย? และทำงานแบบแยกโมดูลได้สมบูรณ์ (ซอฟต์แวร์ต่างประเทศบางตัวทำแบบนี้ไม่ได้ ต้องติดตั้งโมดูลและใช้งานทุกตัว จึงจะใช้งานได้ แต่นั่นทำให้เราเสียเงินซื้อโมดูลที่ไม่จำเป็น)
มุมมองสำหรับคนไทยด้วยกันเอง บริษัทนี้เปิดกิจการมานานแล้ว และอัตราการติดตั้งซอฟต์แวร์แล้วใช้งานได้จริงสูงมาก ( สูงกว่าซอฟต์แวร์ต่างประเทศบางยี่ห้อ) นอกจากนี้ ราคาของซอฟต์แวร์ไทยนี้ ก็ถูกกว่าต่างประเทศหลาย ? สิบเท่า?
ผมจึงอยากจะฝากบริษัทคนไทยแห่งนี้ไว้ในความพิจารณาของรัฐบาลและคนไทยด้วยกันเอง เผื่อมีการส่งเสริมกันจริงจัง เราจะมีซอฟต์แวร์อีอาร์พีของคนไทยที่บุกตลาดโลกได้เหมือนเยอรมนีครับ
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กรองสถานการณ์ไอที
|