|
|
ข่าวสารบัญชี - การเงิน - ภาษี |
ขออนุมัติวงเงินกู้เพื่อรองรับกรณีรายจ่ายสูงกว่ารายได้
คณะรัฐมนตรีพิจารณาการขออนุมัติวงเงินกู้เพื่อรองรับกรณีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ ตามที่ กระทรวงการคลัง เสนอ แล้วมีมติดังนี้
1. อนุมัติให้ กระทรวงการคลัง กู้เงินเพื่อรองรับกรณีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ตามมาตรา 20 (1) แห่งพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ( ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 จำนวน 94,000 ล้านบาท
2. อนุมัติให้ กระทรวงการคลัง เป็นผู้พิจารณาการกู้เงิน วิธีการกู้เงิน เงื่อนไข และรายละเอียดต่างๆ ของการกู้เงินในแต่ละครั้งได้ตามความเหมาะสมและจำเป็น
3. สำหรับวงเงินงบประมาณเพื่อเป็นค่าดอกเบี้ยสำหรับเงินกู้ดังกล่าวในปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 นั้น สำนักงบประมาณจะพิจารณาให้สอดคล้องกับการดำเนินการของ กระทรวงการคลัง และวงเงินรวมของงบประมาณรายจ่ายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 ซึ่งเป็นไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
สาระสำคัญของเรื่อง
1. ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 รัฐบาลดำเนินนโยบายงบประมาณแบบขาดดุล โดยมีประมาณการรายจ่ายจำนวน 1,835,000 ล้านบาท ประมาณการรายได้จำนวน 1,585,500 ล้านบาท และมีวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณจำนวน 249,500 ล้านบาท ต่อมารัฐบาลได้จัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมจำนวน 116,700 ล้านบาท
ซึ่งพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2552 ทำให้ กระทรวงการคลัง ต้องกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณเพิ่มเติมอีกจำนวน 97,560.52 ล้านบาท รวมวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 จำนวนทั้งสิ้น 347,060.52 ล้านบาท
2. ตามพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 มาตรา 20 กำหนดว่า ให้ กระทรวงการคลัง กู้เงินได้เฉพาะเพื่อวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ ( 1) ชดเชยการขาดดุลงบประมาณหรือเมื่อมีรายจ่ายสูงกว่ารายได้... และมาตรา 21 กำหนดว่า การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณหรือเมื่อมีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ในปีงบประมาณหนึ่ง ให้ กระทรวงการคลัง กู้เป็นเงินบาทไม่เกินวงเงิน (1) ร้อยละยี่สิบของงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น และงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม และ ( 2) ร้อยละแปดสิบของงบประมาณรายจ่ายที่ตั้งไว้สำหรับชำระคืนเงินต้น โดย กระทรวงการคลัง สามารถดำเนินการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณหรือเมื่อมีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ภายใต้กรอบวงเงินกู้ตามมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 โดยกรอบวงเงินกู้ดังกล่าวมีจำนวน 441,280.88 ล้านบาท คงเหลือวงเงินกู้ที่สามารถดำเนินการกู้เงินได้อีกจำนวน 94,220.36 ล้านบาท
3. จากสถานการณ์ในปัจจุบันที่เศรษฐกิจของประเทศชะลอตัว ส่งผลให้รัฐบาลจัดเก็บรายได้ได้ต่ำกว่าเป้าหมาย ในขณะที่มีการเร่งการเบิกจ่ายเงินงบประมาณเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้ดุลเงินสดขาดดุลอย่างต่อเนื่อง โดยประมาณการฐานะการคลังในปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 คาดว่าจะมีเงินสดรับจำนวน 1,810,764 ล้านบาท เงินสดจ่ายจำนวน 2,345,400 ล้านบาท ทำให้ดุลเงินสดขาดดุลจำนวน 534,636 ล้านบาท ดังนั้น เพื่อให้เงินคงคลังอยู่ในระดับที่เพียงพอต่อการรองรับการใช้จ่ายของรัฐบาล กระทรวงการคลัง จึงเห็นควรให้มีการกู้เงินเพิ่มเติมอีกจำนวน 94,000 ล้านบาท ซึ่งวงเงินดังกล่าวอยู่ภายใต้กรอบการกู้เงินตามมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 และแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2552 ปรับปรุงครั้งที่ 2 แล้ว
ที่มา : กระทรวงการคลัง
|