Product
 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 
ข่าวสารบัญชี - การเงิน - ภาษี

ธปท. ปลื้ม หลังจากดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อตลอด 8 ปี ไม่เคยหลุดเป้า เผยทุกประเทศใช้แล้วติดใจ

ปีนี้เปิดศักราชใหม่ในการจัดทำนโยบายการเงินร่วมกันระหว่าง ธปท.และ คลัง เชื่อเป็นนิมิตหมายที่ดีเพิ่มความเป็นอิสระให้ธปท. รอเพียงคณะรัฐมนตรีอนุมัติกรอบเงินเฟ้อใหม่ 0.5-3.0% เท่านั้น ทำไม่ได้ตามเป้าพร้อมชี้แจง

การดำเนินนโยบายการเงินในประเทศต่างๆ ทั่วโลกไม่ว่าจะใช้กรอบนโยบายการเงินแบบใดนั้น ก็เป็นไปเพื่อการดูแลให้ระบบเศรษฐกิจมีเสถียรภาพด้านราคาเป็นสำคัญ คือมีอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำและไม่ผันผวนซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนของประเทศต่อไป

ส่วนประเทศไทย ได้เคยใช้นโยบายการเงินภายใต้กรอบต่างๆ ในการดูแลเสถียรภาพด้านราคามาแล้ว เริ่มตั้งแต่การใช้นโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายอัตราแลกเปลี่ยน " Exchange Rate Targeting" ก่อนที่จะเปลี่ยนมาใช้นโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายปริมาณเงิน Monetary Targeting และได้เปลี่ยนมาใช้นโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ  "Inflation Targeting" มาตั้งแต่วันที่ 24 พ.ค. 2543 ซึ่งใช้มาต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันซึ่งกำลังจะครบ 9 ปีเต็มแล้ว 

ด้าน ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้บริหารส่วนกลยุทธ์นโยบายการเงิน ฝ่ายนโยบายการเงิน สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) บอกว่าไม่มีประเทศไหนในโลกที่หลังจากเปลี่ยนมาใช้นโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ  "Inflation Targeting" แล้ว จะเลิกใช้เลย

" แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการดูแลเสถียรภาพด้านราคาได้เป็นอย่างดี สำหรับไทยได้เปลี่ยนมาใช้นโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ  "Inflation Targeting" ตั้งแต่วันที่ 24 พ.ค. 2543 ซึ่งก่อนหน้าที่ไทยจะใช้มี 10 ประเทศที่ใช้ก่อนเรา และยังไม่มีประเทศไหนเลยที่เมื่อลองได้ใช้แล้วจะเลิกใช้"

ทั้งนี้ไทยมีการกำหนดกรอบอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในช่วง " 0-3.5%" มาตั้งแต่ครั้งแรกที่ใช้ ซึ่งเกณฑ์สำคัญที่ใช้พิจารณาช่วงเงินเฟ้อนี้ ได้แก่ 1. ต่ำกว่าในอดีต 2. ไม่สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อของประเทศคู่ค้า และ 3. สามารถทำได้โดยไม่ต้องปรับนโยบายบ่อยมากเกินไป ซึ่งช่วง 0-3.5% นั้น เป็นช่วงที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอัตราเงินเฟ้อในอดีต (1987-1997) ซึ่งอยู่ที่ 4.75% และช่วง 0-3.5% ก็ไม่เป็นอัตราที่สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อของประเทศคู่ค้าซึ่งจะทำให้ไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันได้ 

นอกจากนี้กรอบอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเป็นการใช้ราคาสินค้าในตะกร้าราคาผู้บริโภค (CPI) ที่หักสินค้าประเภทอาหารสดและพลังงานซึ่งมีค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) มากออกไป โดยอาหารสดมีค่า S.D. 6.1 และพลังงานมีค่า S.D. 8.4 ซึ่งหากใช้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมาใช้เป็นกรอบเป้าหมายอาจจะทำให้อัตราเงินเฟ้อมีความผันผวนมากเกินไปและอาจกระทบต่อการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินบ่อยครั้งซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของประเทศได้เช่นกัน

" แม้จะไม่รวมเอาสินค้าในหมวดอาหารสดและพลังงานเอาไว้ แต่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานก็สะท้อนอัตราเงินเฟ้อได้ถึง 78% ของอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ที่สำคัญยังช่วยลดค่า S.D. ลงได้จาก 1.85 เหลือ 1.35"

นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มโอกาสในการควบคุม ( Control Lability) ขึ้นเป็น 0.32 จาก 0.19 อีกด้วย ที่สำคัญกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อพื้นฐานของไทยในช่วง 0-3.5% ก็ใกล้เคียงกับเป้าหมายของประเทศอื่น

ทั้งนี้กรอบเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของไทยนี้ จะมีการคิดเฉลี่ยรายไตรมาสไม่ใช่ดูกันเป็นรายเดือน ซึ่งเป็นที่น่าภูมิใจว่าตั้งแต่ใช้นโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ "Inflation Targeting" มาประมาณ 8 ปีกว่าแล้ว ประเทศไทยยังไม่เคยหลุดออกจากรอบอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน 0-3.5% ที่กำหนดไว้เลย

ดร.กอบศักดิ์ ยังบอกอีกว่า ความเป็นอิสระของธนาคารกลางเป็นสิ่งที่สำคัญ ในปี 2552 ภายใต้ พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทยฉบับใหม่ จะเป็นปีแรกที่ประเทศไทย จะมีการกำหนดเป้าหมายนโยบายการเงินร่วมกันระหว่าง ธปท.และกระทรวงการคลัง ก่อนเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อให้ความเห็นชอบภายในเดือนธ.ค. ของแต่ละปี เพื่อกำหนดเป้าหมายการดำเนินนโยบายการเงินสำหรับปีถัดไป 

เบื้องต้น ทาง ธปท. และ กระทรวงการคลังเห็นชอบร่วมกันที่จะเสนอเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อสำหรับปี 2552 โดยยังคงใช้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยรายไตรมาส เพื่อสร้างความต่อเนื่องในการดำเนินนโยบายการเงิน 

ทั้งนี้เพื่อลดโอกาสของการเกิดเงินฝืด ( Deflation) จึงได้ปรับช่วงเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมาอยู่ที่ 0.5-3.0% ซึ่งยังเป็นอัตราที่สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อของประเทศคู่ค้าเพื่อช่วยรักษาความสามารถในการแข่งขันให้กับสินค้าไทย 

" เป็นการกำหนดเป้าหมายร่วมกันครั้งแรก ระหว่าง ธปท. กับ กระทรวงการคลัง เพื่อให้การดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท. มีอิสระในกรณีที่ ธปท.ทำไม่ได้หลุดกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อไป ก็จะต้องแสดงความรับผิดชอบ โดยทำหนังสือเปิดผนึกถึงคณะรัฐมนตรี อธิบายถึงสาเหตุที่เงินเฟ้อออกนอกกรอบเป้าหมาย และระบุถึงแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไป รวมถึงระยะเวลาที่จะดึงเงินเฟ้อกลับเข้าสู่เป้าหมายอีกครั้ง"

เขากล่าวด้วยว่า เป้าหมายเงินเฟ้อในปี 2552 อยู่ระหว่างการพิจารณานำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบอยู่

ดังนั้นจึงเป็นอีกพัฒนาการหนึ่งของนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของประเทศไทย ซึ่งในอนาคตเราอาจจะก้าวไปถึงการกำหนดเป้าหมายเป็นระดับ ( Point) ของอัตราเงินเฟ้อในช่วงเวลาหนึ่งๆ ที่ชัดเจน เพื่อแสดงถึงความมุ่งมั่นของธนาคารกลางในการรักษาเป้าหมายเงินเฟ้อได้อย่างชัดเจนก็ได้

ที่มา : แบงก์ชาติ

 

 


HOME    ::    PRODUCT    ::    DOWNLOAD   ::    WEBBOARD    ::    CONTACT

BRIGHT & BRIGHTER CO,. LTD. @ 2006. All rights Reserved